“กิ่วแม่ปาน”
คือหนึ่งในเป้าหมายยอดนิยมของนักเดินทางบนเส้นทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จุดเด่นของที่นี่คือเป็นจุดชมอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่สวยงามในตอนเช้าซึ่งสามารถเดินทางมาได้ง่าย ไม่ต้องบากบั่นดั้นด้นไปไกลอย่างเช่นดอยอ่างขาง, ห้วยน้ำดัง ฯลฯ จุดชมอาทิตย์ขึ้นของกิ่วแม่ปานจะอยู่ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 42 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ตรงข้ามกับที่ทำการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ พระมหาธาตุนภเมทนีดล และ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ประมาณ 700 เมตร และห่างจาก ยอดดอยอินทนนท์ เพียง 4.7 กิโลเมตรเท่านั้น
กิ่วแม่ปานเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ที่ความสูง 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน 2 ลักษณะ คือ ป่าดิบชื้น กับ ทุ่งหญ้าบนยอดเขา
เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน” (Kew Mae Pan Nature Trail) คือเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้น มีเส้นทางเดินเป็นวงรอบระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 2–3 ชั่วโมง
กิ่วแม่ปานเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตั้งแต่ประมาณ เดือนพฤศจิกายน จนถึง เดือนพฤษภาคม ของทุกปี โดยจะปิดในช่วงฤดูฝนเพื่อให้ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู (คล้ายๆกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง) ช่วงเวลาที่ดีในการเดินทางไปเที่ยวคือประมาณเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งอากาศจะหนาวเย็นและธรรมชาติยังคงสมบูรณ์จากการได้พักฟื้นฟูมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝน การรอชมอาทิตย์ขึ้นอันสวยงามในตอนเช้าท่ามกลางอากาศสดชื่นและทะเลหมอกในหุบเขาเบื้องหน้า ปิดท้ายด้วยการออกแรงเดินเท้าไปเที่ยวชมธรรมชาติ (ในระยะทางและความยากที่ไม่เกินความท้าทาย) ผ่านป่าใหญ่และทุ่งหญ้าสีเขียวเพื่อไปยัง จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน อันเป็นไฮไล้ท์ของเส้นทางนี้
การมาเที่ยวชมที่นี่เราจะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ได้สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด ได้ชมวิวอันงดงามและพันธุ์ไม้หายาก แม้ว่าที่นี่จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอลังการ แต่ธรรมชาติสามารถเยียวยาและเติมพลังให้แก่ชีวิตเราได้เป็นอย่างดีเสมอ..
รู้จักกับ “กิ่วแม่ปาน”
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้เริ่มเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแก่นักท่องเที่ยว ทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 แต่ยังไม่มีบุคคลากรรับผิดชอบการให้บริการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 อุทยาน ฯ ได้เริ่มสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน (ชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง) โดยการจัดฝึกอบรมการเป็นมัคคุดเทศก์ท้องถิ่น เปลี่ยนชุมชนจากผู้ล่าเป็นผู้เล่า จนวิถีของการทำไร่ฝิ่นและการลักลอบล่าสัตว์เริ่มลดลง
ในปี พ.ศ.2550 มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยบริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ (EGGO) ได้สานต่องานการพัฒนาเส้นทางฯ กิ่วแม่ปานให้สมบูรณ์ มีมาตรฐาน กลมกลืนกับธรรมชาติ ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยร่วมพัฒนาและบำรุงรักษาเส้นทางฯ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ.2561 หลังจากกิ่วแม่ปานถูกใช้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติมานาน พบว่าระบบนิเวศและธรรมชาติในเส้นทางฯ ได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า จึงร่วมวางแผนฟื้นฟูและปรับปรุงเส้นทางฯ อีกเป็นครั้งใหญ่ โดยพัฒนาทางเดินเท้า (Board Walk) ในจุดที่จำเป็น รวมระยะทาง 520 เมตรเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และซ่อมแซมจุดต่างๆ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสื่อความหมาย (ป้าย-สัญลักษณ์) ในเส้นทางฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น และเยาวชนจิตอาสา
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ประกาศเปิดให้บริการเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่ปรับปรุงเสร็จแล้วแก่นักท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยเริ่มนำระบบบริหารจัดการมัคคุเทศก์มาใช้ ได้แก่ ให้นักท่องเที่ยวเริ่มลงทะเบียนเพื่อจองมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในการเดินนำทางตั้งแต่เวลา 05.30 น. โดยรับ 50 กลุ่มต่อวัน กำหนดช่วงเวลาการเดิน 5 กลุ่ม/ชั่วโมง กลุ่มละไม่เกิน 10 คน มีรอบเวลาการเดินห่างกันทุกสิบนาที เช่น 06.10 น./ 06.20 น./ 06.30 น./ 06.40 น./ 06.50 น./ 07.10 น./ 07.20 น. … ไปจนถึงรอบสุดท้าย 15.50 น. รวมทั้งหมด 50 กลุ่ม/วัน
เดือนมกราคม 2565 หัวหน้าอุทยายแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ประกาศระเบียบการเข้าเดินเที่ยวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ กำหนดให้การเที่ยวชมจะต้องมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นผู้นำทางด้วยเสมอ โดยมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่นำทางนั้น นอกจากจะมีความชำนาญเส้นทางและความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพืชพรรณธรรมชาติตลอดเส้นทางแล้ว ยังได้รับการอบรมและมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเป็นอย่างดี เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
ปัญหาที่พบในช่วงแรกๆคือ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 50 กลุ่มต่อวัน (ใช้มัคคุเทศก์วันละ 50 คน) ทำให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่า (บางครั้งนักท่องเที่ยวมากันเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้ต้องใช้มัคคุเทศก์มากขึ้น) จนทำให้การเข้าไปเดินฯ ต้องมีคิวยาวเพื่อรอมัคคุเทศก์ เช่น บางคนลงทะเบียนตอนเจ็ดโมงแต่กว่าจะได้ออกเดินก็ประมาณเก้าโมงเช้า ฯลฯ หลังจากมีการปรับปรุง (เพิ่มจำนวนมัคคุเทศก์ ฯลฯ) ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในเวลาต่อมา
จากการพูดคุยกับไก้ด์ (มัคคุเทศก์) ในระหว่างเดินเที่ยว เราได้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีจำนวนไก้ด์เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยกว่าคนแล้ว ส่วนใหญ่คือชาวเขาม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้ผ่านการอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี มีการบริหารอย่างเป็นระบบผ่านโครงสร้างในรูปแบบคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมา
กิ่วแม่ปานเคยเป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยเรื่อง สุขสันต์วันโสด (2020) หากใครต้องการได้อรรถรส (ประมาณว่าเราเป็นพระเอก-นางเอก) แนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ปูพื้นไว้ก่อนออกเดินทาง 😀
การเตรียมตัวและการเดินทาง
กิ่วแม่ปาน สามารถบรรจุเป็นโปรเเกรมเดียวร่วมกับการท่องเที่ยวดอยอินทนนท์ได้เลย ถ้าต้องการชมอาทิตย์ขึ้นและเดินเที่ยวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้วย สามารถเลือกพักค้างคืนได้ตามบ้านพักต่างๆในระแวกใก้ลเคียง เช่นบริเวณ บ้านแม่กลางหลวง หรือ หมู่บ้านขุนกลาง (ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม.31, โครงการหลวงฯ และน้ำตกสิริภูมิ) หรือพักค้างคืนในเเถบอำเภอจอมทอง (แล้วขับรถแต่เช้ามืดเพื่อขึ้นไปยังดอยอินทนนท์)
ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์เป็นถนนลาดยางอย่างดี ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ตรง ด่านตรวจจุดที่ 1 กิโลเมตรที่ 8 มีลานจอดรถกว้างขวาง สามารถแวะเข้าห้องน้ำและซื้อบัตรค่าบริการอุทยานฯได้ที่นี่
ปัจจุบันมีระบบการจองและซื้อบัตรผ่านเข้าอุทยานฯ แบบออนไลน์ผ่านแอพ QueQ ได้แล้ว สามารถสแกน QR code จากในแอพกับนายตรวจที่ด่านได้เลย สะดวกสบายกว่าการลงจากรถเพื่อไปเข้าคิวซื้อที่เค้าท์เตอร์จากเจ้าหน้าที่ โดยสามารถจอง-ซื้อล่วงหน้าได้ 15 วันก่อนเดินทาง (ด่านเปิด 05.00-17.30 น.)
ที่พักของเราคืนนี้อยู่ที่บริเวณบ้านขุนกลาง ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ (กิโลเมตรที่ 31) ห่างจากกิ่วแม่ปานเพียง 11 กิโลเมตร ปัจจุบันมีบ้านพักเปิดให้บริการในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก(กว่าสมัยที่เราเคยมาเมื่อหลายปีก่อน.. :D)
มื้อเย็นสูตรมาตรฐาน.. หมูกะทะท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็น 😛
เช้าวันรุ่งขึ้นเราออกเดินทางจากที่พักตั้งแต่ตีห้าเศษๆ ใช้เวลาเดินทาง(ขับรถ) ประมาณ 20 นาที สำหรับคนที่เลือกพักในตัวอำเภอจอมทอง อาจต้องออกเช้ากว่านี้ เพราะในช่วงที่เป็นไฮซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวและรถที่ไปรอขึ้นในตอนเช้ามืดเป็นจำนวนมาก
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกิ่วแม่ปาน ตั้งอยู่ริมถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 42 เปิดตั้งเเต่เวลาประมาณ 06:00 มีลานจอดรถกว้างขวาง ห้องน้ำสะอาดมาตรฐาน มีร้านค้าร้านอาหารมาเปิดขายตั้งแต่เช้าตรู่ (บรรยากาศคล้ายๆกับที่จุดชมวิวบนดอยอ่างขาง)
05:30 เจ้าหน้าที่แจ้งเราว่าไม่ต้องจองคิวไก้ด์ (เนื่องจากมีจำนวนเพียงพอ) ให้มาลงทะเบียนและจับคู่กับไก้ด์ในเวลา 06:00 ได้เลย ค่าบริการไก้ด์นำทางมีราคา 200 บาทต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งกลุ่ม
ก่อนออกเดิน สามารถหยิบไม้เทรล(ฟรี) ติดมือไปใช้ด้วยได้ มันสามารถผ่อนแรงและช่วยให้เราเดินได้สะดวกสบายขึ้นจริงๆนะ 😀
คุณเมธี ไก้ด์คุณภาพและใจดีของคณะเรา
เราเลือกที่จะไม่รอชมอาทิตย์ขึ้นตรงบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จึงเริ่มออกเดินตั้งเเต่เวลาหกโมงเช้าเลย ในช่วงแรกจึงแอบได้สัมผัสบรรยากาศการเดินป่าในตอนกลางคืนด้วย 😛
เส้นทางช่วงแรกเป็นทางเดินลาดชันขึ้นไปตามเนิน แต่เป็นทางที่ได้รับการพัฒนาไว้แล้วเป็นอย่างดี มีบันไดสลับกับทางเดินไว้อำนวยความสะดวกตลอดทาง บรรยากาศในช่วงแรกเป็นป่าดิบชื้น (บางครั้งเรียกว่า ป่าเมฆ – Cloud Forest) มีมอสและเฟิร์นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามลำต้นของไม้ใหญ่ที่แข่งขันกันเติบโตเพื่อรับแสงอาทิตย์
หลังจากผ่านดงทึบของป่าดิบชื้น จะทะลุออกสู่ ทุ่งหญ้าบนเขา ที่มีบรรยากาศโปร่ง โล่ง เย็นสบาย เห็นไอหมอกเมฆไหลมาอยู่เบื้องหน้า ซึ่งคาดไม่ถึงเลยว่าจะอยู่หลังม่านอันหนาทึบของป่าที่เพิ่งเดินผ่านมา หากสังเกตดีๆตามทางเดินเราอาจพบมูลหรือร่องรอยขุดคุ้ยหาอาหารของสัตว์ป่าอยู่ด้วย ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ (Alpine Savana) นี้จะเปลี่ยนจากสีเขียวขจึในช่วงหลังฤดูฝนไปเป็นสีน้ำตาลอ่อน (บางคนเรียกว่าสีทอง) อย่างพรั่งพร้อมในช่วงฤดูแล้ง
หลังจากนั้นไม่นานก็ถึง จุดชมวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามา (พระเอกของเส้นทางนี้ 🙂 ซึ่งสามารถมองเห็นทิวเขาน้อยใหญ่เรียงรายอยู่เบื้องหน้า ถ้าโชคดีก็จะได้เห็นทะเลหมอกสีขาวทอดตัวอยู่เหนือหุบเขาเบื้องล่างด้วย
เนื่องจากเป็นวันธรรมดาและเราไปถึงแต่เช้า บริเวณจุดชมวิวยังมีนักท่องเที่ยวไม่มาก สามารถอ้อยอิ่งถ่ายภาพได้ตามสบาย..
ข่าวดี: เรามี (เเต้ม) บุญได้เห็นทะเลหมอก / ข่าวร้าย: แต้มน้อยไปหน่อย 😛
จุดชมวิวกิ่วแม่ปานตั้งอยู่ที่ระยะทางประมาณ 1 ใน 3 ของเส้นทางนี้ เมื่อออกเดินทางต่อจะเริ่มเป็นการลงเนินมากขึ้น เส้นทางช่วงแรกเป็นการลัดเลาะไปตามไหล่เขา ด้านขวามือยังคงเป็นวิวของทิวเขา(และทะเลหมอก) อันสวยงาม ระหว่างทางจะพบ ต้นกุหลาบพันปีแดง ขึ้นอยู่ตามหน้าผาเป็นดงกว้างจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ ซึ่งจะพากันผลิดอกเบ่งบานในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถือเป็นลักษณะเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้
ผาแง่มน้อย – สัญญลักษณ์ของคู่รักนักท่องเที่ยว เป็นหิน 2 แท่ง ตั้งอยู่คู่กันริมเส้นทางเดินชมธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หินที่ประกอบขึ้นเป็นผาแง่มน้อยได้แก่หินแกรนิตเนื้อปานกลาง (medium granite) ยุคไทรแอสซิก (Triassic) มีอายุประมาณ 200 บ้านปีมาแล้ว
ในช่วงหนึ่ง (ยังไม่มีป้ายบอก) มีทางแยกออกไปด้านขวามือ เมื่อเดินไปไม่ไกล จะเป็นจุดชมวิวสองพระธาตุที่มองเห็น พระมหาธาตุนภเมทนีดล และ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งจุดนี้จะสามารถชมพระธาตุได้สวยงามกว่าในช่วงบ่าย (ตอนเช้าถ่ายภาพจะย้อนแสง)
หลังจากนั้นเส้นทางจึงวกกลับเข้าสู่บริเวญ เขตป่าดิบเขา อีกครั้ง เป็นการเดินช่วงสุดท้ายซึ่งจะต้องเดินลงสู่ ลำห้วยแม่ปาน ที่ไหลลดเลี้ยวมาจากบนเขา
แล้วกลับมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นอีกครั้งบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฯ
ประมาณเก้าโมงเช้าเราก็กลับมาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จัดการกับอาหารมื้อเช้าที่ร้านค้าบริเวณลานจอดรถ (หมูปิ้งอร่อยมากกกกกกกกก) แล้วจึงอำลากิ่วแม่ปาน ลงดอยกลับสู่เชียงใหม่ด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม..
ติดตามและเป็นเพื่อนกับเราได้ที่ Facebook Page:
เเชร์เรื่องนี้: