03-December-24
  • Menu

อุบลราชธานี (2): อุโบสถเรืองแสงแห่งวัดภูพร้าว

Home » อุบลราชธานี (2): อุโบสถเรืองแสงแห่งวัดภูพร้าว

Loading

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดภูพร้าว” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เนื่องจากมีอุโบสถศิลปะล้านช้างที่งดงาม เอกลักษณ์อันถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของที่นี่ก็คือ ภาพของประติมากรรมต้นกัลปพฤกษ์ที่ผนังด้านหลังอุโบสถ ซึ่งจะเรืองแสงสีเขียวเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลง จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่โด่งดังระดับประเทศของจังหวัดอุบลราชธานี

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าวตั้งอยู่ระหว่างอำเภอสิรินธรและอำเภอโขงเจียม ระยะทางจากตัวอำเภอประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่ห่างจากด่านชายเเดนช่องเม็กประมาณ 5 กิโลเมตร เดิมชื่อวัดภูพร้าว เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินสูง บริเวณยอดเขามีพระอุโบสถสีปัดทอง ที่จำลองแบบมาจากวัดเชียงทอง แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยการนำศิลปะมาประยุกต์เข้าด้วยกัน ระหว่างล้านนาเเละล้านช้าง งานตกเเต่งและบริเวณโดยรอบ จำลองคติทางพระพุทธศาสนา กำหนดให้เป็นป่าหิมพานต์

เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นหน้าผาสูง ไม่มีแหล่งน้ำ จึงไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ในราวปี พ.ศ. 2497-2498 ครั้งเมื่อ พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ จากฝั่งลาวจำปาสักเข้ามาเผยแผ่ธรรมะทางฝั่งไทย ได้มาพักปักกลดที่ภูพร้าว ท่านทรงเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตภาวนา จึงได้สร้างศาลาขึ้น 1 หลังและฝังศิลากำหนดเขตสีมาไว้

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2510 ทางราชการมีการออกสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร พระอาจารย์บุญมากได้มาขอบิณฑบาตสถานที่บนภูพร้าวแห่งนี้ไว้เพื่อเป็นวัด ทางอำเภอพิบูลมังสาหารจึงอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ โดยใช้ชื่อวัดว่า “วัดภูพร้าว” มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่

ปี พ.ศ. 2539 ทางราชการมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ โดยตั้งอำเภอสิรินธรแยกออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร วัดภูพร้าวจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสิรินธรวราราม” ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาชื่อว่า วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว”

ตัวอุโบสถของวัดภูพร้าวมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทองของประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่าและมีความยาวมากกว่า 2 เท่า ไม่มีผนัง เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ทางเข้าเป็นต้นสาละ เขยิบเข้ามาเป็นต้นมะขามป้อม ต้นสมอ และด้านในสุดเป็นต้นโพธิ์

ตรงกลางของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของพระประธานที่มีผู้นำมาถวายวัด เดิมเป็นองค์พระพุทธชินราช แต่ภายหลังช่างคณากรได้ออกแบบใหม่โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์ไปวางอยู่ด้านหลัง เบื้องบนติดด้วยแผ่นพระทอง แนวคิดของการออกแบบต้องการจำลองให้วัดเป็นเหมือนเขาพระสุเมรุ

บริเวณทางเข้ารอบๆพระอุโบสถ มีรูปปั้นของสัตว์ในป่าหิมพานต์ อันได้แก่ ไกรสรปักษา นกการเวก คชปักษา และคชสีห์

สำหรับต้นกัลปพฤกษ์ด้านหลังที่ทำให้วัดสิรินธรวรารามภูพร้าวเป็นที่รู้จักไปทั่วนั้น เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเองและเป็นเจ้าของไอเดียใช้สารเรืองแสงที่เรียกว่า ฟอสเฟอร์ (Phosphor) ทาลงไปที่ต้นกัลปพฤกษ์ ทำให้ต้นไม้นี้ปรากฏสีเขียวเรืองแสงเมื่อยามค่ำคืน โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิตในภาพยนตร์เรื่องอวตาร

ด้วยพิกัดที่ตั้งของวัดที่อยู่บนเนินเขาสูง จึงทำให้เป็นจุดชมวิวและทัศนียภาพได้เป็นอย่างดี โดยบริเวณด้านหลังพระอุโบสถ สามารถมองเห็นวิวได้ไกลจนถึงบริเวณด่านชายเเดนช่องเม็ก ส่วนบริเวณด้านหน้าวัดก็เป็นจุดชมความสวยงามของพระอาทิตย์ตกในยามเย็นได้

เมื่อความสว่างจากท้องฟ้าเริ่มลาลับสู่พลบค่ำ แสงสีอันสวยงามในบริเวณพระอุโบสถก็จะเริ่มปรากฏให้เห็น

ไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ การชมภาพเรืองแสงสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นจิตรกรรมบริเวณด้านหลังของอุโบสถนั่นเอง

Photo Credit: www.edtguide.com

เคล็ดไม่ลับ: การถ่ายภาพที่สภาพแสงน้อยในตอนกลางคืน มีความจำเป็นจะต้องใช้ขาตั้งกล้องด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะไม่สามารถเก็บภาพได้อย่างต้องการ..    \O_O/

แชร์เรื่องนี้:

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.