จีนยุคหลังม่านไม้ไผ่: การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่รู้จักกันในนาม จีนแผ่นดินใหญ่ (Mainland China) เคยเป็นประเทศที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ผู้นำที่ยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างเคร่งครัด จีนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบปิดและควบคุมโดยรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ ทว่า จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 1970 เมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1978
เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ริเริ่มนโยบายที่เรียกขานว่า “การปฏิรูปและเปิดประเทศ” (改革开放) ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูจีนสู่โลกภายนอกอย่างแท้จริง นโยบายนี้นำมาซึ่งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ และการผสมผสานกลไกตลาดเข้ากับระบบสังคมนิยมแบบจีนอย่างลงตัว
ในยุคแรกของการเปิดประเทศ ภาพลักษณ์ของจีนยังคงเป็นประเทศที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ภาพจำของผู้คนทั่วโลกคือ ถนนหนทางในกรุงปักกิ่งที่เต็มไปด้วยผู้คนขี่จักรยานไปมา สะท้อนถึงความเรียบง่ายและความล้าหลังทางเทคโนโลยีในขณะนั้น
แต่แล้ว เวลาเพียง 40 ปีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งของประเทศจีน ปัจจุบัน จีนได้ก้าวกระโดดไปไกลอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจที่ท้าทายประเทศตะวันตกได้อย่างสง่างาม ชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว ^^
เส้นทางการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของจีน
จากภาพอันคุ้นตาของผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนในอดีต จีนได้ก้าวกระโดดสู่ยุคใหม่แห่งการคมนาคม พัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง จนสามารถเทียบชั้นและก้าวล้ำนานาประเทศทั่วโลก
ในช่วงแรกก่อนปี ค.ศ. 2003 จีนพยายามบากบั่นพัฒนารถไฟความเร็วสูงด้วยตนเอง โดยมีรากฐานจากงานวิจัยและพัฒนาด้านขนส่งระบบรางที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่ด้วยข้อจำกัดด้านขีดความสามารถภายในประเทศ ทำให้ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อจีนปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ด้วยการ นำเข้าองค์ความรู้จากต่างชาติ โดยการให้บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาร่วมพัฒนา โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจีนอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตชิ้นส่วน การทดสอบ ไปจนถึงการกำหนดมาตรฐาน และที่สำคัญที่สุด คือการอนุญาตให้จีนผลิตรถไฟความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ของตนเอง
ปี 2004 จึงเกิดการประมูลรถไฟความเร็วสูง 4 ล็อตใหญ่ของจีน โดยมีผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ได้แก่ Alstom จากฝรั่งเศส, Siemens จากเยอรมนี, Bombardier จากแคนาดา และ Kawasaki จากญี่ปุ่น จีนสั่งซื้อรถไฟจากแต่ละบริษัท บริษัทละ 60 ขบวน พร้อมทั้งส่งวิศวกรและช่างเทคนิคไปเรียนรู้จากทั้ง 4 ประเทศ
จากการผสานเทคโนโลยีของ 4 ชาติชั้นนำ จีนได้หลอมรวมองค์ความรู้เหล่านี้เข้าด้วยกัน ก่อเกิดเป็นรถไฟความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ CRH หรือ China Rail High-speed ซึ่งมีนัยยะแฝงที่น่าสนใจ ตัว ‘H’ ที่หลายคนเข้าใจว่าหมายถึง High-speed แท้จริงแล้วคือ Harmony หรือความกลมกลืน สะท้อนให้เห็นถึงการผสานเทคโนโลยีจากทั่วโลกอย่างลงตัว
โครงการแรกเริ่มก่อสร้างในปี 2005 และ เริ่มต้นการให้บริการรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งเเรกในปี 2008 ซึ่งตรงกับปีที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก เส้นทางแรกคือ ปักกิ่ง-เทียนจิน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร นับเป็นการประกาศให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่า จีนได้ก้าวสู่ยุคใหม่ของการผลิตรถไฟความเร็วสูงในประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ
จวบจนปัจจุบัน จีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเส้นทางการให้บริการมากกว่า 43,700 กม. (*สถิติในเดือนพฤศจิกายน 2023) ครอบคลุม-เชื่อมต่อเมืองต่างๆทั่วประเทศมากกว่า 550 เมือง และมีเป้าหมายพัฒนาต่อไปให้ถึง 50,000 กม.ในปี 2025 และ 70,000 กม. ภายในปี 2035
รู้จักรถไฟจีน(ให้มากขึ้น)กัน
China Railway High-speed (CRH) เป็นชื่อทางการค้า (โลโก้) ของบริการรถไฟความเร็วสูงของของจีน (เริ่มเปิดตัวเเละใช้ตั้งแต่ เมษายน 2007) ซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศจีน (China Railway – CR)
แบรนด์ CRH กำลังถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ CR (China Railway) ในรถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ๆ ที่นำร่องโดยรุ่น “ฟู่ซิง (Fuxing)” การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยย้ายจากการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศไปสู่นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ
ประเภทของรถไฟความเร็วสูงจีน
รถไฟความเร็วสูงของจีนถูกแบ่งออกเป็นประเภทโดยจำเเนกตามความเร็ว โดยดูได้จาก รหัสอักษรตัวเเรกของหมายเลขบวน รหัสเหล่านี้บ่งบอกถึงประเภทของรถไฟ ความเร็ว และระดับของบริการ ได้เเก่:
G (高铁 – Gāotiě): เป็นรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นขบวนรถในเส้นทางระหว่าง เมืองใหญ่หรือศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 300-350 กม./ชม. ตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ที่เชื่อมสองมหานครที่อยู่ห่างกัน 1,318 กม. (819 ไมล์) เเต่ใช้เวลาเดินทางเพียง 4.5 ชั่วโมงเท่านั้น
D (动车 – Dòngchē): คือรถไฟความเร็วสูงระดับปานกลาง หรือ รถไฟด่วน (Express Train) ใช้สำหรับเส้นทางระหว่างเมือง (มีจุดจอดน้อย) มีความเร็วประมาณ 200-250 กม./ชม. มีขั้นที่นอนด้วยในบางขบวนที่เดินทางไกลหรือข้ามคืน
C (城际 – Chéngjì): คือ รถไฟระหว่างเมือง (Intercity Train) มักใช้สำหรับการเดินทางระยะสั้นระหว่างเมืองใกล้เคียงหรือในเขตเมืองใหญ่ มีความเร็วประมาณ 200 กม./ชม.
ชั้นโดยสารของรถไฟความเร็วสูงจีน
ชั้นสอง (Second Class): มี 5 ที่นั่งต่อแถว (3+2) ราคาค่าโดยสารต่ำสุด
ชั้นหนึ่ง (First Class): มี 4 ที่นั่งต่อแถว (2+2) ที่นั่งกว้างและสะดวกสบายกว่า ราคาค่าโดยสารสูงกว่าชั้นสองประมาณ 20% ถึง 40%
ชั้นธุรกิจ (Business Class): เทียบเท่ากับที่นั่งชั้นหนึ่งบนเครื่องบิน มี 3 ที่นั่งต่อแถว (2+1) ที่นั่งปรับเอนราบได้ ค่าโดยสารประมาณสองเท่าของชั้นหนึ่ง
ชั้นวีไอพี (Superior Class): มีให้บริการในรถไฟประเภท G และ D บางขบวน สะดวกสบายเทียบเท่าที่นั่งชั้นหนึ่ง มี 3 ที่นั่งต่อแถว (2+1) ราคาค่าโดยสารประมาณสองเท่าของชั้นสอง
ฟู่ซิงเหา (Fuxing Hao) – รถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ล่าสุดของจีน
Fuxing Hao (ฟู่ซิงห้าว) เป็นชื่อของรถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่พัฒนาโดยการรถไฟจีน (China Railway) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ CR (China Railway High-speed) เปิดตัวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2017
รายละเอียดและคุณสมบัติของรถไฟ Fuxing Hao:
การออกแบบและผลิต: Fuxing Hao เป็นรถไฟที่ถูกออกแบบและผลิตในประเทศจีนทั้งหมด โดยเริ่มพัฒนาในปี 2012 และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2016
ความเร็ว: รถไฟรุ่นนี้สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 400 กม./ชม. (250 ไมล์/ชม.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรถไฟความเร็วสูงที่เร็วที่สุดในโลก (สูงกว่ารถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น ที่มีความเร็วสูงสุดประมาณ 320 กม./ชม. หรือ 200 ไมล์/ชม.)
ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ: Fuxing Hao มีการออกแบบที่เน้นความปลอดภัยและลดการใช้พลังงาน รวมถึงมีระบบ Wi-Fi ให้บริการแก่ผู้โดยสาร
Fuxing Hao จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของเทคโนโลยีการขนส่งที่ทันสมัยของจีน และจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชีย
ปลายปี 2564 เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิง-เวียงจันทน์ได้เริ่มเปิดใช้งาน และมีโครงการเชื่อมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ในอนาคต
Fuxing Hao จะถูกใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย รถไฟรุ่นนี้มีความจุที่นั่งประมาณ 600 ที่นั่งต่อขบวน และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 50,000 คนต่อชั่วโมงในทิศทางเดียว
หันกลับมามองบ้านเราแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้.. ประเทศไทยมีรถไฟมากว่าร้อยปี โดยวันที่ 26 มีนาคม 2565 จะครบ 125 ปีวันสถาปนารถไฟไทย แต่ ‘รถไฟไทย’ กลับทรุดโทรมไปตามกาลเวลา (แทนที่จะก้าวหน้า) และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล่าช้าและผู้ยากไร้.. T.T
แชร์บทความนี้: